บล็อกประเภทต่าง ๆ ใน Gutenberg Editor อีดิเตอร์ตัวใหม่ของ WordPress

Gutenberg Editor คืออีดิเตอร์ตัวใหม่ของ WordPress บล็อกประเภทต่าง ๆ ใน Gutenberg Editor มีให้เลือกใช้เป็นจำนวนมาก และแต่ละบล็อกถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้เราโดยแท้

เมื่อ WordPress เปลี่ยนมาใช้ Editor ตัวใหม่ ที่มีชื่อว่า กูเต็นเบิร์ก Gutenberg แนวทางการเขียนบทความในเวิร์ดเพรสจึงเปลี่ยนไป ทุกอย่างจะทำผ่านบล็อกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนย่อหน้า (Paragraph) การใส่หัวข้อเรื่อง (Heading) การแทรกรูปภาพ (Image) ในบทความ หรืออื่น ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี จะต้องทำผ่านการแทรกบล็อกประเภทนั้น ๆ เข้ามาในบทความทั้งสิ้น วันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับบล็อกประเภทต่าง ๆ ที่มีให้ใช้ใน Gutenberg Editor กันครับ

เมื่อคลิกที่ปุ่ม ที่มุมซ้ายด้านบนของหน้าเขียนบทความจะมีบล็อกปรากฏออกมาให้เลือกใช้ โดยจะแยกเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้

Most Used

Most Used เป็นบล็อกกลุ่มแรกที่เราจะเห็น โดยจะรวมบล็อกที่เราใช้งานบ่อย ๆ มาไว้ในกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น แต่ละครั้งที่เราคลิกปุ่ม เพื่อเลือกใช้บล็อก จะมีบล็อกปรากฏในกลุ่มนี้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่า เราใช้บล็อกตัวไหนมากที่สุด

Gutenberg Editor
Most Used

Common Blocks

บล็อกประเภท Common Blocks
Common Blocks

Common Blocks เป็นกลุ่มที่รวบรวมบล็อกพื้นฐานไว้ให้เราเลือกใช้ โดยมีบล็อกต่าง ๆ ดังนี้

  • Paragraph สำหรับเขียนย่อหน้า ซึ่งก็คือเนื้อหาที่เป็นตัวอักษรนั่นเอง
  • Image สำหรับแทรกรูปภาพในบทความ
  • Heading สำหรับเขียนหัวเรื่อง จะมีให้เลือกตั้งแต่ H1 ถึง H6
  • List สำหรับสร้างรายการ ทำได้ทั้งแบบ Bullet ทั้งแบบมีหมายเลขกำกับ
  • Quote สำหรับเขียนข้อความอ้างอิง หรือข้อความที่ต้องการทำให้เด่นกว่าสวนอื่น ๆ ในบทความ
  • Gallery สำหรับแทรกรูปภาพเข้ามาในบทความในรูปแบบของ Gallery
  • Audio สำหรับแทรกไฟล์เสียง เช่น MP3 เข้ามาใช้ในบทความ
  • Cover สำหรับแทรกภาพปกให้บทความ โดยการแทรกภาพประเภทนี้ เราสามารถพิมพ์ตัวอักษรลงไปเหนือภาพนั้นได้ด้วย
  • File สำหรับแทรกไฟล์เข้ามาในบทความ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดไฟล์นั้น ๆ ได้ โดยจะมีปุ่มให้คลิกดาวน์โหลด
  • Video สำหรับแทรกวีดิโอเข้ามาในบทความ โดยสามารถแทรกได้ทั้งแบบไฟล์ ทั้งแบบลิงค์

Formatting

บล็อกในกลุ่ม Formatting
Formatting

Formatting เป็นกลุ่มที่รวบรวมบล็อกประเภทการจัดรูปแบบไว้ให้เราเลือกใช้ มีบล็อกต่างๆ ดังนี้

  • Classic เป็นอีดิเตอร์แบบเดิมที่ใช้ใน WordPress 4 ลงไป สำหรับผู้ที่ไม่ถนัด Gutenberg สามารถใช้อีดิเตอร์ตัวนี้แทนได้
  • Code สำหรับแทรกโค้ดลงในบทความ เช่น ถ้าเราเขียนโค้ด HTML ลงในบล็อกประเภทนี้ โค้ดที่เราเขียนไปจะไม่ถูกแปล แต่จะถูกแสดงผลออกมาเป็นโค้ดตรงๆ ตามที่เราเขียน
  • Custom HTML สำหรับเขียนโค้ด HTML ลงไปในบทความ โดยโค้ดที่เราเขียนไปจะถูกแปลออกมาอีกที เช่น ถ้าเราเขียนโค้ดว่า <button>ปุ่ม</button> โค้ดที่เราเขียนลงไปจะถูกแสดงผลออกมาเป็นปุ่มที่มีคำว่า “ปุ่ม” กำกับอยู่
  • Preformatted สำหรับเขียนข้อความทั่วไป แต่จะแตกต่างจากบล็อกประเภท Paragraph ตรงที่เราสามารถกดปุ่ม Enter เพื่อขึ้นบรรทัดใหม่ได้ (บล็อกประเภท Paragraph ถ้ากดปุ่ม Enter จะเป็นการสร้างบล็อกใหม่)
  • Pullquote สำหรับใส่ข้อความเน้นย้ำเข้าไปในโพสต์
  • Table สำหรับแทรกตารางเข้าไปในบทความ
  • Verse บล็อกสำหรับเขียนบทกลอน บทกวี โดยเฉพาะ ไม่ว่าเราจะเคาะแท็บ เคาะเว้นวรรคอย่างไร ก็จะแสดงผลอย่างที่เราต้องการ

Layout Elements

บล็อกในกลุ่ม Layout Elements
Layout Elements

Layout Elements รวบรวมบล็อกต่าง ๆ ให้เราได้เลือกใช้ดังนี้

  • Button สำหรับแทรกปุ่มในบทความ โดยเราสามารถพิมพ์ข้อความกำกับปุ่ม และใส่ URL เข้าไปได้
  • Media & Text สำหรับแทรกไฟล์สื่อที่สามารถพิมพ์ข้อความไว้ข้าง ๆ กันได้ เช่น แทรกรูปภาพเข้ามาในบทความและพิมพ์คำอธิบายเกี่ยวกับรูปภาพนั้นไว้ข้าง ๆ เป็นต้น
  • Columns สำหรับเพิ่มคอลัมน์ 2 คอลัมน์เข้ามาในบทความ และแต่ละคอลัมน์สามารถเพิ่มบล็อกประเภทอื่น ๆ ไว้ภายในได้ด้วย
  • More สำหรับสร้างปุ่ม Read More โดยเราสามารถพิมพ์คำอื่น ๆ แทนคำว่า Read More ได้
  • Page Break สำหรับสร้างเพจเบรกให้บทความ โดยบทความจะถูกแยกออกเป็นหน้า ๆ เช่น ถ้าบทความยาวเกินไป เราอาจต้องการแยกเป็นหน้า 2 หน้า 3 เป็นต้น
  • Separator สำหรับสร้างเส้นกั้นในบทความ
  • Spacer สำหรับเพิ่มช่องว่างในบทความ โดยเราสามารถกำหนดความสูงของช่องว่างได้

Widgets

บล็อกในกลุ่ม Widgets
Widgets

Widgets รวบรวมบล็อกไว้ให้เราเลือกใช้งานดังนี้

  • Shortcode สำหรับแทรก Shortcode เข้ามาในบทความ (การทำงานบางอย่างกับปลั๊กอินบางตัวเราจะได้ Shortcode มา และต้องนำ Shortcode นั้นมาวางในบทความ)
  • Archives สำหรับแทรกคลังบทความ (Archives) เข้ามาในบทความของเรา
  • Calendar สำหรับแทรกปฏิทินเข้ามาในบทความ
  • Categories สำหรับแทรกหมวดหมู่ที่มีทั้งหมดเข้ามาในบทความของเรา
  • Latest Comments สำหรับแทรกความคิดเห็นล่าสุด (กรณีเราเปิดให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์แสดงความคิดเห็นต่อบทความได้) เข้ามาในบทความ
  • Latest Posts สำหรับแทรกรายการบทความล่าสุดเข้ามาในบทความ
  • RSS สำหรับแทรก RSS Feed เข้ามาในบทความ
  • Search สำหรับแทรกช่องและปุ่มค้นหาเข้ามาในบทความ โดยเราสามารถกำหนด Placeholder ได้ด้วย
  • Tag Cloud สำหรับแทรก Tag ทั้งหมดที่มีเข้ามาในบทความ

Embeds

บล็อกในกลุ่ม Embeds
Embeds

Embeds เป็นกลุ่มบล็อกที่รวบรวมบล็อกประเภทต่าง ๆ เกี่ยวกับการฝัง URL จากแหล่งอื่น ๆ ไว้ในบทความของเรา เช่น การนำบทความจากเว็บไซต์อื่นหรือเว็บไซต์ของเราเอง มาฟังไว้ในบทความ หรือนำโพสต์จาก Facebook, Twitter, Instagram หรือนำวีดิโอจาก YouTube, Vimeo เป็นต้น มาฝังไว้ในบทความของเรา นอกจากนี้ยังสามารถนำโพสต์จากสื่อโซเชียลต่าง ๆ มาฝังไว้ในบทความของเราได้ด้วย ซึ่งจะไม่ขอนำมาพูดนะครับ สนใจตัวไหนก็ลองใช้งานกันดูครับ

Reusable

Reusable Block
Reusable

Reusable เป็นบล็อกที่น่าสนใจมากทีเดียว เพราะเป็นการสร้างบล็อกครั้งเดียวแต่สามารถนำไปใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำบทความเกี่ยวกับการสอนอะไรสักอย่าง แล้วอยากจะให้ทุก ๆ บทความแสดงสารบัญของบทความทั้งหมดในเนื้อหาเดียวกัน ในแต่ละบทความ เช่น บทความที่ 1 ก็มีสารบัญ บทความที่ 2 ก็มีสารบัญ และสารบัญแสดงเนื้อหาเดียวกัน คุณสามารถใช้งานบล็อกประเภท Reusable ได้เลยครับ