การใช้งานปลั๊กอิน Plugins ใน WordPress

Plugins ปลั๊กอิน คือส่วนเสริมที่จะทำให้เว็บไซต์ WordPress ของเรามีความสามารถเพิ่มขึ้น เช่น อยากจะให้ใช้เว็บไซต์ของเราใช้งาน Google Fonts ได้ ก็ติดตั้งปลั๊กอิน Easy Google Fonts อยากให้เว็บไซต์ของเรามีตัวจัดการด้าน SEO ก็ติดตั้งปลั๊กอิน All in One SEO เป็นต้น เรียกได้ว่า ปลั๊กอินคือตัวเพิ่มความสามารถให้เว็บไซต์ WordPress และที่สำคัญ WordPress มีปลั๊กอินฟรีให้เราเลือกใช้ตั้งมากมาย

การติดตั้งปลั๊กอิน Plugins

ก่อนที่จะใช้ปลั๊กอินใด ๆ ได้นั้น เราต้องทำการติดตั้งปลั๊กอินก่อน โดยมีวิธีการดังนี้

  • ให้คลิกที่เมนู Plugins ที่ไซด์บาร์ทางด้านซ้ายมือ จะเข้าสู่หน้าปลั๊กอิน
  • คลิกที่ปุ่ม Add New เพื่อเลือกติดตั้งปลั๊กอินใหม่

จะเข้าสู่หน้าสำหรับเลือกหรือค้นหาปลั๊กอินเพื่อติดตั้ง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. ปุ่ม Upload Plugin ด้านบน สำหรับอัพโหลดปลั๊กอินที่เราดาวน์โหลดมาจากที่อื่น ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบของไฟล์ zip
  2. แถบแสดงหมวดหมู่ของปลั๊กอิน สำหรับกรองปลั๊กอินตามหมวดหมู่
  3. ช่อง Search plugins… เอาไว้สำหรับกรอกคีย์เวิร์ดเพื่อกรองปลั๊กอินตามที่เราต้องการ
  4. ส่วนแสดงรายละเอียดย่อ ๆ ของปลั๊กอิน
  5. ปุ่ม Install สำหรับติดตั้งปลั๊กอิน
  6. More Details สามารถคลิกตรงนี้เมื่อดูรายละเอียดของปลั๊กอินนั้น ๆ เพิ่มเติมได้
  7. ส่วนแสดงเรทติ้งหรือการให้คะแนน ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าปลั๊กอินตัวนั้น ๆ มีคนให้คะแนนมากแค่ไหน
  8. ส่วนแสดงจำนวนการติดตั้ง ว่ามีคนติดตั้งปลั๊กอินตัวนั้น ๆ มากแค่ไหน
  9. Last Updated แสดงให้เห็นว่าปลั๊กอินตัวนั้น ๆ ได้รับการอัพเดทล่าสุดเมื่อไหร่
  10. ส่วนแสดงว่าปลั๊กอินตัวนั้นสามารถเข้ากันได้กับ WordPress ที่เราใช้อยู่หรือไม่ ถ้าเป็นข้อความ Compatible with your version of WordPress ละก็ มั่นใจได้เลยว่าใช้ได้แน่นอน

เมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าจะติดตั้งปลั๊กอินตัวไหน ให้คลิกที่ปุ่ม Install Now ได้เลย เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ปุ่ม Install Now จะเปลี่ยนเป็น Activate ให้คลิกที่ปุ่มนี้เพื่อเปิดใช้งานปลั๊กอิน

เมื่อ Activate เรียบร้อยจะกลับเข้าสู่หน้า Plugins และจะเห็นปลั๊กอินที่เราได้ติดตั้งไปปรากฏอยู่ในรายการ

รายการปลั๊กอิน

เมื่อมาถึงตรงนี้ปลั๊กอินที่เราติดตั้งไปก็สามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่งปลั๊กอินบางตัวอาจมีส่วนให้ตั้งค่าเพิ่มเติม บางตัวอาจไม่มี ถ้ามีส่วนให้ตั้งค่าเพิ่มเติมและเราต้องการตั้งค่า ให้คลิกที่ Settings แต่ถ้าต้องการยกเลิกการใช้งานปลั๊กอินตัวนั้นให้คลิกที่ Deactivate เพื่อปิดใช้งาน

การลบปลั๊กอิน

ถ้ามีปลั๊กอินตัวใดที่เราไม่ต้องการใช้แล้ว และต้องการลบออกจากระบบ ให้คลิกที่ Delete ที่ใต้ชื่อปลั๊กอินตัวนั้น

ถ้าต้องการลบปลั๊กอินพร้อมกันทีละหลายตัว ให้ติ๊กที่เช็คบ๊อกซ์หน้าปลั๊กอินที่ต้องการลบ แล้วคลิกที่ Bulk Actions และเคลือก Delete เสร็จแล้วคลิกปุ่ม Apply เพียงแค่นี้ปลั๊กอินที่เราเลือกก็จะถูกลบออกจากระบบแล้วครับ