การสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress เป็นการสร้างเว็บไซต์ที่สะดวก ง่าย ประหยัดงบประมาณ และรวดเร็ว สามารถมีเว็บไซต์ไว้ในครองครองได้โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม
WordPress คืออะไร ?
WordPress คือ CMS (Content Management System) สำหรับสร้างเว็บไซต์หรือบล็อก ที่ได้รับความนิยมสูงมาก สามารถสร้างเว็บไซต์ได้หลายแนว มีธีม (Theme) ให้เลือกใช้เยอะแยะไปหมด ทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน มีปลั๊กอิน (Plugins) ให้เลือกใช้จำนวนมากเพื่อเพิ่มความสามารถให้กับเว็บไซต์ที่สร้างด้วย WordPress และข้อดีอื่น ๆ อีกมากมาย
WordPress ใช้ทำอะไรได้บ้าง ?
เวิร์ดเพรสสามารถสร้างเว็บไซต์ธรรมดา ๆ ทั่วไป สร้างบล๊อกสำหรับผู้ที่เป็นบล็อกเกอร์ สร้างเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ สำหรับผู้ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการมีพื้นที่ออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย หรือเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านของตัวเอง เป็นต้น
จะใช้งาน WordPress ต้องมีอะไรบ้าง ?
ถ้าคิดจะสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress สิ่งที่ต้องมีอันดับแรกก็คือ เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) ไว้เก็บเว็บไซต์ของเรา และโดเมนเนม (Domain name) สำหรับเป็นที่อยู่สำหรับชี้ไปที่เว็บไซต์ของเรา
ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้จะต้องเสียเงินเช่าเป็นรายปี ซึ่งราคาเช่าโดเมนเนมที่เป็นที่นิยมทั่ว ๆ ไป เช่น .com, .net, .org ก็ไม่แพงครับ แต่สำหรับโฮสติ้งก็มีหลากหลายเจ้าให้บริการ ราคาก็มีจากถูกมาก ๆ จนถึงแพงมาก ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของโฮสติ้ง
แต่ถ้าเรายังไม่อยากเช่าโฮสติ้งกับโดเมน ต้องการสร้างเว็บไซต์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราดูก่อนก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยต้องจำลองเครื่องคอมพิวต์ของเราให้สามารถทำงานเป็นเซิร์ฟเวอร์ได้เสียก่อน เดี๋ยวจะพูดถึงในหัวข้อต่อไปครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมีก็คือไฟล์สำหรับติดตั้ง WordPress ซึ่งไม่ต้องเสียเงินซื้อเลยแม้แต่บาทเดียว โดยสามารถไปดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ ดาวน์โหลดเวิร์ดเพรสเวอร์ชั่นล่าสุด ซึ่งเวิร์ดเพรสที่ได้มาจะเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ซึ่งเวอร์ชั่นล่าสุดขณะเขียนบทความนี้ เป็นเวอร์ชั่น 5.2.3 ครับ

แต่สำหรับผู้ที่ต้องการใช้เวิร์ดเพรสภาษาไทยก็มีให้ใช้เช่นกัน โดยสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ที่ ดาวน์โหลดเวิร์ดเพรสภาษาไทย

สรุปขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress
1. เช่าเว็บโฮสติ้ง + จดโดเมนเนม (หรือติดตั้งโปรแกรมจำลองเซิร์ฟเวอร์เพื่อรันเว็บ WordPress) บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก่อน ซึ่งในบทความนี้จะใช้วิธีนี้ครับ
2. สร้างฐานข้อมูล เพื่อเก็บข้อมูลของเว็บไซต์
3. ดาวน์โหลดไฟล์ติดตั้ง WordPress แตกไฟล์
4. อัพโหลดไฟล์ติดตั้ง WordPress ขึ้นไปยังเว็บโฮสติ้ง (ในบทความนี้จะก๊อปปี้ไฟล์ไปไว้ยังโฮสต์จำลอง) และสั่งติดตั้ง
5. ปรับแต่งค่าต่าง ๆ ที่จำเป็น
6. เริ่มเขียนบทความเพื่อเผยแพร่
การสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress
จำลองเซิร์ฟเวอร์เพื่อรันเว็บไซต์ WordPress ของเรา
ขั้นตอนแรกเราจะต้องติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อจำลองเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราให้ทำงานเป็นเซิร์ฟเวอร์เสียก่อน ซึ่งก็มีซอฟต์แวร์หลายตัวที่ได้รับความนิยม
ในบทความนี้จะใช้ XAMPP ซึ่งผมได้เขียนอธิบายขึ้นตอนการติดตั้งเอาไว้แล้ว ให้เข้าไปอ่านที่ การจำลองเซิร์ฟเวอร์เพื่อรันเว็บไซต์ด้วย XAMPP
เมื่อติดตั้งโปรแกรม XAMPP เรียบร้อยแล้ว โฟล์เดอร์สำหรับเก็บเว็บไซต์ของเราจะอยู่ที่โฟล์เดอร์ xampp\htdocs ในไดรฟ์ที่เราได้เลือกติดตั้งครั้งแรก เช่น ถ้าเราติดตั้งที่ไดรฟ์ D โฟล์เดอร์เก็บเว็บไซต์จะอยู่ที่ D:\xampp\htdocs (ถ้าเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงที่ติดตั้งโปรแกรม ค่าตั้งต้นโปรแกรมจะถูกติดตั้งไว้ที่ไดรฟ์ C )
สร้างฐานข้อมูล
ก่อนที่จะติดตั้ง WordPress เราต้องสร้างฐานข้อมูลขึ้นมาก่อน เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของระบบ ซึ่งมีขึ้นตอนดังนี้ครับ

- เปิดเว็บบราวเซอร์ขึ้นมา แล้วกรอก localhost/phpmyadmin ที่แอดเดรสบาร์ กด Enter เพื่อเข้าไปยังหน้า PhpMyAdmin
- คลิกที่ New
- ที่ช่อง Database name ให้กรอกชื่อฐานข้อมูล ในที่นี้กรอกเป็น mywordpress
- ช่องถัดมาคลิกแล้วเลือก utf8_general_ci
- คลิกปุ่ม Create
ระบบจะสร้างฐานข้อมูลให้เราเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเปล่า ๆ ไม่มีข้อมูลอะไรอยู่เลย ดังภาพด้านล่าง

ดาวน์โหลดและติดตั้ง WordPress
ขั้นตอนต่อไปเราจะดาวน์โหลด WordPress พระเอกของเรา โดยให้เปิดเว็บบราวเซอร์ขึ้นมาแล้วไปที่ลิงค์นี้ https://wordpress.org/download/ แล้วคลิกที่ Download WordPress 5.2.3 (วันข้างหน้าตัวเลขด้านหลังนี้จะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นเวอร์ชั่นล่าสุดคือเวอร์ชั่นไหน)

เมื่อดาวน์โหลดมาเรียบร้อยแล้ว เราจะได้ไฟล์เป็นไฟล์ zip ให้แตกไฟล์ออกมา จะได้เป็นโฟล์เดอร์ชื่อว่า wordpress ให้ก๊อปปี้หรือย้ายโฟล์เดอร์ดังกล่าวไปไว้ที่โฟล์เดอร์ที่เราได้ติดตั้งโปรแกรม XAMPP เอาไว้ เช่น C:\xampp\htdocs\

โฟล์เดอร์ที่ชื่อ wordpress นั้นเป็นเว็บไซต์ของเราครับ ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนเป็นชื่ออื่น ๆ ได้ตามต้องการ เพื่อให้สื่อว่าเว็บไซต์ของเราเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับอะไร ในตัวอย่างผมจะใช้ชื่อเดิมนะครับ
เมื่อเปิดเข้าไปในโฟล์เดอร์ wordpress เราจะได้เจอกับโพล์เดอร์และไฟล์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นไฟล์ระบบการทำงานของ wordpress

ซึ่งเราจะต้องทำการเปลี่ยนชื่อไฟล์ wp-config-sample.php (ในกรอบสีแดง) เราจะเปลี่ยนชื่อเป็น wp-config.php ซึ่งจะได้ดังภาพด้านล่างครับ

หลังจากนั้นให้เปิดไฟล์ wp-config.php ขึ้นมา ด้วยโปรแกรมประเภท Text Editor ตัวไหนก็ได้ ในตัวอย่างผมเปิดด้วย Notepad++ เมื่อเปิดไฟล์ขึ้นมาแล้วให้ทำดังนี้
หาบรรทัดที่เขียนว่า define( ‘DB_NAME’, ‘database_name_here’ ); ตรง database_name_here ให้ใส่ชื่อฐานข้อมูลที่เราได้สร้างไว้ลงไปแทน ในขั้นตอนการสร้างฐานข้อมูล เราตั้งชื่อฐานข้อมูลว่า mywordpress ดังนั้น ให้ใส่คำนี้ลงไปแทน เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว บันทัดนี้จะเป็น define( ‘DB_NAME’, ‘ mywordpress ‘ );
หาบรรทัดที่เขียนว่า define( ‘DB_USER’, ‘username_here’ ); ตรงคำว่า username_here ให้ใส่ชื่อผู้ใช้ฐานข้อมูลลงไป ในกรณีนี้เราใช้ XAMPP ในการจำลองเซิร์ฟเวอร์ ชื่อผู้ใช้ฐานข้อมูลจะเป็น root ดังนั้นให้ใส่คำว่า root ลงไปแทน เมื่อแก้ไขเรียบร้อยแล้วบรรทัดนี้จะเป็น define( ‘DB_USER’, ‘root’ );
หาบรรทัดที่เขียนว่า define( ‘DB_PASSWORD’, ‘password_here’ ); ตรง password_here ให้ใส่รหัสผ่านสำหรับเข้าใช้ฐานข้อมูล ในกรณีนี้เราใช้ XAMPP ในการจำลองเซิร์ฟเวอร์ รหัสผ่านสำหรับใช้ฐานข้อมูลจะเป็นค่าว่าง ดังนั้นให้ลบคำว่า password_here ออก ก็เป็นอันเรียบร้อย (ถ้าเราได้ตั้งค่ารหัสผ่านเป็นอย่างอื่นต้องกรอกตามจริง) เมื่อแก้ไขเรียบร้อยแล้วบรรทัดนี้จะเป็น define( ‘DB_PASSWORD’, ” );

เมื่อแก้ไขทั้ง 3 บรรทัดดังกล่าวเรียบร้อยแล้วจะเป็นดังนี้ครับ
/** The name of the database for WordPress */
define( ‘DB_NAME’, ‘mywordpress’ );
/** MySQL database username */
define( ‘DB_USER’, ‘root’ );
/** MySQL database password */
define( ‘DB_PASSWORD’, ” );

เมื่อแก้ไขเรียบร้อยแล้วให้บันทึกไฟล์ได้เลย ขั้นตอนต่อไปเราจะทำการติดตั้ง WordPress กันครับ โดยให้เปิดเว็บบราวเซอร์ขึ้นมาแล้วกรอก URL ดังนี้ครับ http://localhost/wordpress ซึ่งจะเป็นการชี้ไปยังเว็บไซต์ WordPress ที่เราได้ก๊อปปี้ไปวางไว้ในเซิร์ฟเวอร์จำลองของเราในขั้นตอนแรก
กรณีเป็นการติดตั้งครั้งแรก WordPress จะเปลี่ยนเส้นทางไปยัง http://localhost/wordpress/wp-admin/install.php โดยอัตโนมัติ เพื่อให้เราทำการติดตั้ง WordPress หน้าจอจะเป็นดังนี้

จากภาพด้านบน ให้เราเลือกภาษาสำหรับติดตั้ง WordPress ซึ่งก็มีหลายภาษาให้เลือก ที่สำคัญคือมีภาษาไทยให้เราได้เลือกใช้ด้วยครับ ในตัวอย่างผมเลือกเป็นภาษาอังกฤษนะครับ เลือกเสร็จกดปุ่ม Continue ได้เลย จะเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งค่าเว็บไซต์

ให้ตั้งค่าดังนี้ครับ
1. Site Title ให้กรอกชื่อเว็บไซต์ตามที่เราต้องการ ผมกรอกเป็น “เวิร์ดเพรสของฉัน” ก็แล้วกันนะครับ คิดอะไรไม่ออก อิอิ
2. Username ให้กรอกชื่อผู้ใช้สำหรับลงชื่อเข้าจัดการเว็บไซต์ของเรา ในตัวอย่างผมกรอกเป็น Admin นะครับ ส่วนในการใช้งานจริงไม่ควรใช้คำนี้ เพื่อความปลอดภัย
3. Password ให้กรอกรหัสผ่าน ควรตั้งให้คาดเดายาก ๆ หน่อยนะครับ เพื่อความปลอดภัย
4. Your Email ให้กรอกอีเมล์ของคุณลงไป
ส่วน Search Engine Visibility ตรงนี้ ถ้าเราไม่ต้องการให้เสิร์ชเอ็นจินเข้ามาเก็บข้อมูลในเว็บของเราก็ติ๊กไว้ครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเสิร์ชเอ็นจินจะให้ความสำคัญกับการร้องขอที่ว่านี้หรือเปล่า แต่โดยทั่วไปแล้วเวลาเราทำเว็บ เราก็ต้องการให้เสิร์ชเอ็นจินมาเก็บข้อมูลของเราแหละ ดังนั้นผมไม่ติ๊กนะครับ
เมื่อตั้งค่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็กดปุ่ม Install WordPress ได้เลยครับ


ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด จะเข้าสู่หน้าจอดังภาพด้านบน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การติดตั้ง WordPress ของเราสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยครับ ยินดีด้วยอย่างแรง ให้กดที่ Log In เพื่อเข้าสู่ระบบได้เลยครับ
ระบบจะพาเราไปที่ http://localhost/wordpress/wp-login.php ซึ่งครั้งต่อ ๆ ไป เมื่อเราต้องการเข้ามาจัดการกับเว็บไซต์ของเรา ให้เข้ามาที่ URL นี้เสมอเพื่อทำการ Log In ถ้าขี้เกียจจำละก็แนะนำให้ทำ Bookmark ไว้เลยครับ

กรอก Username หรือ Email Address ที่เราได้ระบุไว้ในขั้นตอนการติดตั้ง และกรอก Password แล้วก็คลิก Log In ได้เลยครับ เราก็จะเข้าสู่หน้า Dashboard ของเว็บไซต์เรา

ส่วนต่าง ๆ ในหน้านี้มีอะไรบ้าง เดี๋ยวจะพูดถึงกันทีหลังในบทความต่อไปนะครับ ถ้าเราอยากจะดูหน้าตาเว็บไซต์ของเราว่าเป็นอย่างไร ให้คลิกที่ชื่อเว็บไซต์ได้เลย ในตัวอย่างเป็น “เวิร์ดเพลสของฉัน” ตรงมุมซ้ายบนครับ หรือเข้าไปที่ URL นี้ http://localhost/wordpress/ ได้เลย ซึ่งครั้งต่อไปเมื่อเราจะเข้ามาดูหน้าเว็บของเรา ก็ให้เข้ามาที่ URL นี้ครับ ทำบุ๊คมาร์คไว้เลยครับ

จากภาพด้านบน จะเห็นว่า เราได้เว็บไซต์พัง ๆ มาหนึ่งเว็บ พังจริง ๆ ครับ ดูแล้ว ไม่น่าจะเป็นเว็บไซต์ได้เลยด้วยซ้ำ แต่ไม่ต้องกังวลครับ เพราะมีธีมสำหร้บแต่งหน้าทาปากให้เว็บไซต์ WordPress สวยเลิศเพริศพริ้งจำนวนมากให้เราเลือกใช้ ไว้ค่อยมาแต่งหน้าให้เว็บของเรากันครับ
สำหรับในบทความนี้เน้นแค่ให้สร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress ได้ และมาถึงจุดนี้ เป้าหมายของบทความนี้ถือว่าสำเร็จแล้ว จึงขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ เจอกันใหม่ในบทความหน้าครับ สวัสดีครับ
ปล. อีกวิธีหนึ่งสำหรับการติดตั้ง WordPress โดยไม่ต้องแก้ไขไฟล์ wp-config.php ด้วยตัวเอง อ่านได้ในบทความนี้ วิธีดาวน์โหลดและติดตั้ง WordPress